ศักยภาพและข้อจำกัดของสถานีตามแนวเส้นทางการขนส่งสินค้าไทย-ลาว

สถานีท่านาแล้ง (ด่านพาสีสากลสินค้าท่าบกท่านาแล้ง  เขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ลาว) 

ท่าบกท่านาแล้ง เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่อยู่ถัดจากสถานีท่านาแล้ง ซึ่งเป็นสถานีรถไฟในเส้นทางสายหนองคาย – เวียงจันทน์ ตั้งอยู่บ้านดงโพสี หาดทรายฟอง นครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ตั้งอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพ ไทย – ลาว แห่งที่ 1 เป็นระยะทาง 3.50 กิโลเมตร และบริษัท เวียงจันทน์โลจิสติกส์พาร์ค จำกัด ได้รับสัมปทานในการพัฒนาท่าบกท่านาแล้ง รวมถึงเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ ครอบคลุมพื้นที่ขนาด 2,387.5 ไร่ เพื่อเป็นด่านสากลในการให้บริการด้านพิธีศุลกากรของสปป. ลาว

ลานขนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ณ ท่าบกท่านาแล้ง ประกอบด้วย Meter Gauge และ Standard Gauge

ข้อดี
  • ท่าบกท่านาแล้ง และเขตโลจิสติกส์นครหลวงเวียงจันทน์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทั้งนำเข้าและส่งออกของสปป.ลาว มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบวงจร เป็นทั้งด่านตรวจสินค้า ด่านจัดเก็บภาษี เป็นจุดพักและเปลี่ยนถ่ายสินค้า 
  • เป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างไทย – ลาว – จีนที่สำคัญ เนื่องจากมีบริเวณพื้นที่สำหรับการเปลี่ยนถ่ายสินค้าจากระบบรางขนาด 1 เมตร (Meter Gauge) เป็น 1.435 เมตร (Standard Gauge)
  • สินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่จะต้องเดินทางผ่านสปป.ลาว มายังไทยและประเทศอื่น ๆ จะถูกนำมาคัดแยกที่ท่าบกท่านาแล้ง และจะถูกกระจาย/ส่งออก ต่อไป
ข้อเสีย
  • รถไฟความเร็วสูงจากจีนยังไม่สามารถเข้ามาเปลี่ยนถ่ายสินค้าบริเวณท่าบกท่านาแล้ง เนื่องจากข้อจำกัดในเรื่องของระเบียบกรมการขนส่งของ สปป.ลาว ซึ่งปัจจุบัน ใช้การขนส่งทางรถบรรทุกในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าระหว่างท่าบกท่านาแล้งและสถานีเวียงจันทน์ใต้
  • ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเปลี่ยนถ่ายตู้สินค้ามีราคาสูงมาก เนื่องจากกลไกทางด้านภาษีของสปป.ลาว ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการขนส่งสินค้าผ่านเส้นทางนี้

สถานีเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด) 

โครงการการก่อสร้างทางรถไฟลาว – ไทย ระยะที่ 2 (ส่วนที่ 2) ได้รับการสนับสนุนเงินกู้ (70% ของงบประมาณทั้งหมด) จากรัฐบาลไทย เป็นสถานีสุดท้ายที่ตั้งอยู่ในเส้นทางรถไฟสายหนองคาย – เวียงจันทน์ มีการขยายต่อจากสถานีท่านาแล้งประมาณ 7.5 กิโลเมตร โดยใช้ขนาดทางเท่ากับ 1 เมตร 

บรรยากาศภายใน และชานชาลาสถานีรถไฟนครหลวงเวียงจันทน์ (บ้านคำสะหวาด)

ข้อดี
  • ให้บริการสำหรับขนส่งผู้โดยสารเท่านั้น โดยส่วนของการขนส่งตู้สินค้าจะหยุดทำการขนส่งและเปลี่ยนถ่ายที่ท่าบกท่านาแล้ง และการให้บริการเดินรถในพื้นที่ประเทศลาว จะต้องมีการเปลี่ยนคนขับจากชาวไทยเป็นชาวลาว เนื่องจากตามข้อตกลงในการเดินขบวนรถระหว่างไทย – ลาว คุ้มครองพนักงานชาวไทยถึงสถานีท่านาแล้งเท่านั้น
ข้อเสีย
  • การเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาว ของผู้โดยสารจะเป็นการเชื่อมต่อด้วย shuttle bus ยังไม่มีการเชื่อมต่อกันด้วยระบบราง
  • สถานียังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากต้องรอความพร้อมของรถไฟความเร็วสูงจากประเทศจีน และการฝึกอบรมการเดินขบวนรถ และการขับรถไฟให้กับเจ้าหน้าที่การรถไฟของ สปป.ลาว

สถานีหนองคาย

สถานีหนองคาย เป็นสถานีสุดท้ายในเขตประเทศไทย ก่อนจะเดินรถไปเชื่อมต่อกับสถานีท่านาแล้งของ สปป.ลาว ณ สถานีมีเจ้าหน้าที่พนักงานตรวจคนเข้าเมืองให้บริการผู้โดยสารที่จะเข้า – ออกประเทศไทย ปัจจุบันมีขบวนรถเดินจากสถานีหนองคาย – ท่านาแล้ง – หนองคาย จำนวน 4 ขบวน (ไป – กลับ) ต่อวัน มีเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรให้บริการตรวจปล่อยสินค้าออกและสินค้าข้ามแดน การขนส่งสินค้าผ่านตู้สินค้าแบบควบคุมอุณหภูมินั้นต้องมีการส่งแบบตู้สินค้าให้วิศวกรตรวจสอบเบื้องต้นว่าตู้ที่จะนำมาใช้งานสามารถใช้บรรทุกสินค้าได้ตามระเบียบข้อปฏิบัติของ รฟท. หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบรรทุกส่ง

บริเวณโดยรอบสถานีหนองคาย

ข้อดี
  • One stop service สำหรับผู้โดยสารที่ต้องการข้ามแดนระหว่างประเทศไทย – สปป.ลาว โดยมีพนักงานตรวจคนเข้าเมืองอำนวยความสะดวก ณ สถานีหนองคาย ตามช่วงเวลาของรอบการเดินรถ
ข้อเสีย
  • ข้อจำกัดของขนาดทางของไทยที่มีขนาดเล็กกว่าทางที่เชื่อมต่อกับรถไฟที่มาจากจีน ส่งผลทำให้การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังจีนมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายเพื่อลำเลียงต่อไปยังประเทศจีนที่ท่าบกท่านาแล้ง (สปป.ลาว) ซึ่งมีผลกระทบต่อทั้งด้านค่าใช้จ่ายที่ต้องผ่านด่านพาสีของสปป.ลาว และระยะเวลารอคอยสำหรับการตรวจสอบสินค้าจากด่านพาสี ที่จะกระทบต่อราคาตลาด ณ ปลายทางการขนส่งสินค้า  
  • รอบการเดินรถจากสถานีหนองคาย – ท่านาแล้ง – หนองคาย และปริมาณผู้โดยสารที่ข้ามแดนผ่านระบบรางที่มีจำนวนน้อย ทั้งนี้ หากในอนาคตมีปริมาณผู้โดยสารหรือความต้องการในการใช้ระบบรางที่มากขึ้น จะมีการแจ้งรายละเอียดเพิ่มเติมว่าจะปรับให้มีการเดินรถเพิ่มมากขึ้นเป็น 7 รอบต่อวัน แต่การเดินรถที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบต่อความหนาแน่นของการจราจรบริเวณสะพาน เนื่องจากมีความจำเป็นต้องปิดสะพานเพื่อห้ามรถยนต์ผ่านทุกครั้งที่มีขบวนรถไฟเคลื่อนผ่าน

สถานีนาทา

สถานีถูกวางแผนในการพัฒนาให้เป็น Container Yard, Transshipment Yard และ Depot ในอนาคตเมื่อมีการก่อสร้างสะพานเชื่อมไทย – ลาวแห่งใหม่แล้วเสร็จ โดยจะมีแผนในการก่อสร้างทางขนาด 1.435 เมตร เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงจีน – ลาวเข้ามายังสถานีนาทา และทางขนาด 1 เมตร บนสะพานเดียวกัน

บริเวณโดยรอบสถานีนาทา

ข้อดี
  • จะเกิดศูนย์ขนถ่ายสินค้าที่เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการเปลี่ยนถ่ายจากรางขนาด 1 เมตร เป็นขนาด 1.435 เมตร และช่วยลดภาระของผู้ประกอบการส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีความศักยภาพในการแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
ข้อเสีย
  • การก่อสร้างสะพานมิตรภาพหนองคาย แห่งที่ 2 ยังไม่มีกำหนดการที่ชัดเจน ส่งผลให้โครงการที่จะพัฒนาสถานีนาทาไม่มีกำหนดการก่อสร้างที่ชัดเจนเช่นกัน
  • แผนการเพิ่มความสามารถในอนาคตเพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเกษตร ลานพักตู้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ เช่น จุดชาร์จตู้ควบคุมอุณหภูมิ (reefer) สำหรับขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น
  • ข้อจำกัดขนาดของรถบทต. ที่ใช้ในการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณภูมิสามารถรองรับตู้ reefer ขนาด 40 ฟุต ได้เพียงเท่านั้น เนื่องจากต้องเผื่อส่วนของ Clip-on ท้ายตู้ที่ยื่นออกมา ทั้งนี้ตู้ reefer รถบทต. ของประเทศจีนมีขนาดใหญ่กว่า จึงต้องมีการหามาตรการเพื่อรองรับการขนส่งดังกล่าวในอนาคต

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี

นิคมอุตสาหกรรมอุดรธานี ตั้งอยู่บนพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (NeEC) ภายในนิคมฯ ที่มีแผนพัฒนาเป็นพื้นที่เป็นสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง ICD ลานตู้คอนเทนเนอร์ CY และเขตปลอดอากร (Free Zone) ที่จะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคในอนาคต (Logistic Hub)

สำรวจบริเวณโดยรอบเมืองอุตสาหกรรมอุดรธานี

ข้อดี
  • แผนพัฒนาการเชื่อมต่อระบบรางจากสถานีหนองตะไก้ เข้ามาในพื้นที่ ICD นิคมฯ อุดรธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการดำเนินธุรกิจด้านการนำเข้า – ส่งออก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ทำเลที่ตั้งอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และเส้นทางรถไฟความเร็วสูง และเป็นจุดที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) ซึ่งส่งผลดีต่อการกระจายสินค้าในเขตพื้นที่ภาคอีสานตอนบน ลดต้นทุน และช่วยเพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดสำหรับสินค้าส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย
  • ICD มีการจัดเตรียมให้เป็นจุด One stop service ซึ่งเป็นจุดที่ศุลกากรจะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบสินค้า และมีการจัดพื้นที่ให้บริการชาร์จไฟตู้ควบคุมอุณหภูมิในระหว่างรอการตรวจสอบ
ข้อเสีย
  • จำนวนเที่ยวการขนส่งสินค้าทางรางมีค่อนข้างน้อย ในขณะที่ปริมาณความต้องการขนส่งสินค้าประเภทน้ำตาลมีมากถึง 10,000 เที่ยว/วัน และมีความพร้อมในการรวมสินค้าเทกอง (Bulk) เพื่อขนส่งทางราง
  • ข้อกังวลของผู้ประกอบการหากมีการขนส่งสินค้าจริงในอนาคตเกี่ยวกับข้อจำกัดจำนวนความถี่ของรถไฟที่สถานีหนองตะไก้ ทางนิคมฯ ได้มีการเสนอแนะให้เพิ่มเที่ยวรถไฟพิเศษ เข้ามารับ-ส่งสินค้าภายในนิคมฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า
  • เนื่องจากด่านกักกันผลไม้ใช้เวลาในการตรวจสอบหลายขั้นตอน จึงส่งผลให้สินค้าเกิดความเสียหาย ต้นทุนของ SME เพิ่มขึ้น และกระทบต่อราคาขายที่ถูกส่งไปยังจีน จึงต้องการให้เจ้าหน้าที่ตรวจผลไม้ประจำอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อลดเวลาการตรวจสอบ พร้อมทั้งจัดบริการห้องเย็นเพื่อการจัดเก็บ

คณะผู้จัดทำบทความ

1)     นางเยาวลักษณ์ สุนทรนนท์                      ที่ปรึกษา

2)     นางสาวภัทรสุดา วิชยพงศ์                       นักวิจัยวิชาการอาวุโส

3)     นางสาวอุมา พงษ์กิจเดชโชติ                    นักวิจัยวิชาการ

4)     นางณิชาภัทร เบลค                               นักวิจัยวิชาการ

5)     นายธีรภัทร ภู่เกิด                                 นักวิจัยวิชาการ

6)     นายเกียรติภูมิ น้อยสุวรรณ์                      นักวิจัยวิชาการ

7)     นางสาวพิมพ์ชนก แป้นไทย                      นักวิเคราะห์วิชาการ

8)     นางสาวพาขวัญ พูนจิตรบริสุทธิ์                 นักเทคโนโลยีวิชาการ

Follow me!