สทร. จับมือยกระดับ MOU ไทย–ฝรั่งเศส ด้านระบบราง ขยายความร่วมมือด้านเทคโนโลยี การศึกษา และฝึกอบรม เดินหน้าพัฒนาบุคลากรและถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง
.
วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) หรือ สทร. ได้ร่วมพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับใหม่ ร่วมกับกลุ่มธุรกิจระบบรางชั้นนำจากประเทศฝรั่งเศสจำนวน 5 บริษัท ได้แก่ Egis Rail (Thailand) Co., Ltd. , Alstom (Thailand) Limited , VOSSLOH COGIFER S.A. , Systra MVA (Thailand) Co., Ltd. และ POMA SAS โดยมี นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานร่วมกล่าวเปิดงาน และร่วมเป็นสักขีพยาน พร้อมกับ รศ.ดร.โชติชัย เจริญงาม ประธานกรรมการสถาบันฯ ซึ่งมี ผศ.พิศิษฐ์ แสง-ชูโต กรรมการสถาบัน รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง ได้ร่วมลงนามกับกลุ่มธุรกิจระบบรางฝรั่งเศส 5 แห่ง ในครั้งนี้ ณ โรงแรม มิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ
.
โดยหลังจากเมื่อสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ความร่วมมือดังกล่าวมีระยะเวลา 2 ปี และต่อเนื่องจาก MOU ฉบับเดิมซึ่งมีผลตั้งแต่ปี 2566 ซึ่งมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรด้านระบบรางของไทยผ่านการศึกษา การวิจัย การฝึกอบรม การถ่ายทอดองค์ความรู้ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ (localization) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาทักษะและความเชี่ยวชาญของบุคลากร ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมระบบรางไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
.
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ความร่วมมือดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในหลากหลายมิติ อาทิ การพัฒนาหลักสูตรร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัย ESTACA ประเทศฝรั่งเศส เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา AI สำหรับศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟ ด้านการฝึกอบรม สทร. ได้ร่วมหารือกับผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศส และกับสถาบันฝึกอบรมการรถไฟ เพื่อดำเนินการด้านการฝึกอบรมบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบราง ตลอดจนจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมที่จะเป็นประโยชน์กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) และผู้ประกอบการเดินรถต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ โดย สทร. ได้รับการสนับสนุนจากสถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสในการส่งผู้เชี่ยวชาญจากฝรั่งเศส Mr. Yannick Jacob ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนระบบขนส่งในเมือง มาร่วมปฏิบัติงานกับ สทร. เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อช่วยสนับสนุนการวิจัย การพัฒนานโยบาย และการวางแผนระบบรางอย่างยั่งยืน อีกทั้งมีการจัดกิจกรรมบรรยาย การเสวนาวิชาการ และการประชุมเชิงเทคนิค เช่น Technical Hearing หัวข้อ “Low-Carbon Technology for Thailand’s Rail Decarbonization” ซึ่งเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยีสะอาดและพลังงานทางเลือกในระบบราง โดยมีบริษัท Egis และ Alstom ร่วมให้ข้อมูลเชิงลึก
.
ในด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ สทร. ได้เดินทางเยี่ยมชมโรงงาน Vossloh Cogifer และห้องปฏิบัติการ Digital Mobility Lab ของบริษัท Alstom เพื่อสำรวจแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ ตลอดจนหารือเกี่ยวกับข้อมูล OEM ที่บริษัทไทยผลิตให้บริษัทฝรั่งเศส เพื่อสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทย นอกจากนี้ สทร. ได้ดำเนินการจัดโครงการอบรมหลักสูตร “Smart and Sustainable Urban Mobility with AI-powered Analytics” ภายใต้ความร่วมมือประเทศไทยและประเทศฝรั่งเศส อีกด้วย ทั้งนี้บันทึกข้อตกลงฉบับใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อสานต่อความร่วมมือที่แข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพระหว่างไทยและฝรั่งเศส สร้างรากฐานในการพัฒนาระบบรางอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางความรู้ด้านระบบรางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
.





